วันพฤหัสบดีที่ 1 กรกฎาคม พ.ศ. 2553

หุ่นยนแปลภาษา



'ดินสอ' หุ่นอ่านภาษามือตัวแรกของโลก ฝีมือคนไทย
คณะวิศวะ มช. เจ๋ง.. สร้างหุ่นยนต์อ่านภาษามือเพื่อช่วยคนใบ้ ตัวแรกของโลกสำเร็จ ตั้งเป้าพัฒนาติดตั้งบนมือถือ เพื่อความสะดวกการพา
ผศ.ดร.ศันสนีย์ เอื้อพันธุ์วิริยะกุลอาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์รศ.ดร.นิพนธ์ ธีรอำพน อาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมไฟฟ้า คณะวิศวกรรมศาสตร์มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และตัวแทนบริษัทซีทีเอเซีย โรโบติกส์ จำกัด ร่วมกันแถลงข่าวเปิดตัวผลงานวิจัยซอฟต์แวร์บนตัวหุ่นยนต์ "ดินสอ" หุ่นอัจฉริยะที่อ่านภาษามือภาษาไทยตัวแรกของโลก โดยมีบรรดาเด็กพิการที่พูดไม่ได้ กว่า 100 คน จากโรงเรียนโสตศึกษาเชียงใหม่ เข้ามาร่วมทดสอบกับหุ่นยนต์ดินสอ

ผศ.ดร.ศันสนีย์ เปิดเผยว่า การสร้างหุ่นยนต์ดินสอ หรือหุ่นยนต์ที่อ่านภาษามือภาษาไทยเป็นตัวแรกของโลกนี้ เป็นงานวิจัยผลงานด้านซอฟต์แวร์ของคณะวิศวกรรมศาสตร์ ได้รับการสนับสนุนจากสถาบันวิจัยและพัฒนาอุตสาหกรรม โทรคมนาคม(สพท.) โดยผลงานนี้เป็นงานปริญญานิพนธ์และวิทยานิพนธ์ของนักศึกษาคณะวิศวกรรมศาสตร์ และพัฒนาร่วมกับบริษัทซีทีเอเซียโรโบติกส์ จำกัด ใช้เวลาในการพัฒนากว่า 5 ปี โดยใช้เทคโนโลยีทางด้าน COMPUTATIONAL INTELLIGENCE จดจำภาษามือภาษาไทยที่เป็นภาพเคลื่อนไหว ที่ใช้สื่อสารกับผู้พิการทางการได้ยิน โดยไม่จำเป็นต้องใช้อุปกรณ์ช่วย เช่นถุงมือไซเบอร์

อาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ กล่าวว่า ระบบจะถูกสอนให้จดจำเริ่มจากการเก็บและสร้างต้นแบบไว้มากกว่า4,000 ภาพภาษามือ และระบบจะถูกสอนให้รู้และจำภาพภาษามือเหล่านั้น แล้วถ่ายทอดออกมาเป็นคำพูด ว่าผู้พิการที่แสดงภาษามือนั้นพูดว่าอะไร โดยหุ่นยนต์ดินสอจะมีกล้องติดอยู่บริเวณหน้าผากของหุ่นยนต์ บริเวณใบหน้าจะเป็นภาพหมีแพนด้า ภาพรูปหัวใจและภาพปกติ เมื่อมีผู้พิการไม่สามารถพูดได้มาแสดงท่าทางให้กับหุ่นยนต์ หุ่นยนต์ดินสอก็จะพูดแปลให้ว่าคนที่แสดงนั้นว่าอะไรบ้าง

ผศ.ดร.ศันสนีย์ กล่าว "การสร้างหุ่นยนต์ดินสอ เกิดจากแนวคิดที่มีคนสร้างเครื่องแปลภาษามือที่ว่าคำพูดแบบนี้ ภาษามือทำอย่างไร แต่ไม่เคยมีใครคิดเครื่องที่จะแปลภาษามือให้ออกมาเป็นคำพูด เราจึงเอาแนวคิดนี้มาผลิตเป็นหุ่นยนต์ดินสอ กำลังอยู่ในขั้นตอนการพัฒนาให้มีขีดความสามารถสูงขึ้น ทุนสร้างต่อ 1 ตัวมากกว่า1 ล้านบาท ส่วนใหญ่เป็นค่าซอฟต์เวร์ตอนนี้ทีมวิจัยทั้งหมดกำลังเร่งพัฒนาซอฟต์แวร์ตัวนี้ให้สามารถติดตั้งในโทรศัพท์มือถือ เพราะมีกล้องถ่ายรูปอยู่แล้ว ซึ่งในประเทศไทยมีผู้พิการทางการได้ยินราว 118,000 คนเมื่อโครงการนี้สำเร็จสมบูรณ์ผู้พิการเหล่านี้ก็จะมีชีวิตที่ดีขึ้นสะดวกขึ้น สามารถไปไหนมาไหนคนทั่วไปก็จะรู้ว่าผู้พิการพูดอะไร ต้องการอะไร"

ทางด้านอาจารย์โรงเรียนโสตศึกษาเปิดเผยว่า ปัญหาส่วนใหญ่ของเด็กพิการที่พูดไม่ได้นั้น ส่วนใหญ่คือคนทั่วไปไม่รู้ว่าเด็กเหล่านี้ต้องการอะไร เวลาเด็กเหล่านี้ไปไหนมาไหนก็ลำบากเพราะคนทั่วไปไม่รู้ เว้นแต่คนที่รู้ภาษามือเท่านั้น การที่ทีมวิจัยของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ คิดค้นพัฒนาหุ่นยนต์ดินสอออกมาและเตรียมจะพัฒนาให้ติดตั้งในโทรศัพท์มือถือได้นั้น ถือเป็นเรื่องที่ดีเพราะผู้พิการทั้งหลายสามารถพกพาติดตัวไปไหนมาไหนได้ และสามารถแปลภาษามือให้คนทั่วไปได้เข้าใจ ชีวิตความเป็นอยู่ของเด็กและผู้พิการเหล่านี้จะดีขึ้นแน่นอน